
ชื่อหลักสูตร
ชื่อภาษาไทย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ
ชื่อภาษาอังกฤษ Bachelor of Engineering Program in Agri-Intelligence Engineering
วัตถุประสงค์หลักสูตร
เพื่อผลิตวิศวกรหรือบุคลากรที่มีทักษะทางวิศวกรรมและทักษะทางสัมคมสามารถปฏิบัติงานทางวิศวกรรมเกษตรหรืองานวิศวกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตระหนักถึงจรรยาบรรณวิศวกร
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Engineering (Agri-Intelligence Engineering)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : วศ.บ. (วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ)
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B. Eng. (Agri-Intelligence Engineering)
ปรัชญาของหลักสูตร
ผลิตบัณฑิตวิศวกรรมเกษตรให้เป็นผู้มีความรู้ทั้งทางทฤษฏีและปฏิบัติ สามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมมาใช้ได้อย่างเหมาะสม มีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ในการพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อส่งเสริมความได้เปรียบด้านการแข่งขันระดับนานาชาติหรือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในประเทศ จำเป็นต้องใช้ ความรู้และทักษะทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ การออกแบบ การแก้ปัญหา รวมถึง การควบคุมการดำเนินการหรือการจัดสร้างระบบหรือเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง โดยวิศวกรที่สามารถทำงานดังกล่าวได้ยังต้องมีความเข้าใจในระบบการผลิตทางการเกษตร สามารถประยุกต์ความรู้พื้นฐานและบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ รวมถึงสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยื่น
หลักสูตรวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีการดำเนินการผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมเกษตรและพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หลักสูตรจึงนำศาสตร์ดังกล่าวมาเป็นองค์ประกอบหลักอีกประการหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในการผลิตและพัฒนาบุคลากรเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรในยุคใหม่
ผลลัพธ์การศึกษา
1. สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ เคมีและวิศวกรรมของวัสดุทางการเกษตร
2. สามารถออกแบบระบบการให้น้ำพืช วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ วิธีการจัดการแหล่งน้ำเพื่อ การเกษตร
3. สามารถออกแบบและสร้างโรงเรือนเพื่อการผลิตพืช plant factory และโรงเรือนเพื่อการเลี้ยงสัตว์
4. สามารถออกแบบ พัฒนา สร้าง เลือกใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลและเมคคาทรอนิกส์ในการเกษตรตั้งแต่กระบวนการก่อนการเก็บเกี่ยวและกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว
5. สามารถออกแบบ พัฒนา สร้างเลือกใช้งานและบำรุงรักษาโรงจัดเก็บผลิตผลเกษตร
6. สามารถประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์สมองกลฝังตัว Internet of thing (IoT) GPS GIS Remote sensing และปัญญาประดิษฐ์ในการเกษตรได้
7. สามารถวางแผนการทดลอง เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) ทางการเกษตรและใช้ ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเกษตรกรรม
8. สามารถวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์วิศวกรรม การจัดการการเกษตรเชิงพาณิชย์การเป็นผู้ประกอบการ และการพัฒนานวัตกรรม
9. สามารถทำงานเป็นทีมทั้งในบทบาทของผู้นำและผู้ตาม สามารถบริหารจัดการงานที่รับผิดชอบให้ สำเร็จตามแผนและเวลาที่กำหนด
10. สามารถสื่อสารในหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
11. เข้าใจและปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิศวกร และคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบของการ ทำงานต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
12. มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการทำงาน